0
ประวัติความเป็นมา
เมื่อ พ.ศ. 2440 มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่น เมืองเกาะพะงันถูกยุบไปรวมกับเกาะสมุย เรียกว่า อำเภอเกาะสมุย ดังนั้น เกาะพะงัน จึงมีฐานะเป็นตำบล มี 2 ตำบล คือ ตำบลเกาะพะงัน และตำบลบ้านใต้
วันที่ 11 กันยายน 2513 (วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา) กระทรวงมหาดไทยได้แยกเขตท้องที่เกาะพะงัน เป็นกิ่งอำเภอเกาะพงัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2513 ในขณะนั้นใช้อาคารรับรองแขกของวัดราษฎร์เจริญ เป็นที่ทำการอำเภอชั่วคราว
วันที่ 13 เมษายน 2520 ประกาศยกฐานะเป็น “อำเภอเกาะพะงัน” และได้มีพิธีเปิดป้ายที่ทำการอำเภอเกาะพะงัน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2521
เทศบาลตำบลบ้านใต้ มีพื้นที่ประมาณ 84 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่โดยประมาณ 52,500 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่จำนวน 5 หมู่บ้าน จำนวนหมู่บ้านที่มีพื้นที่เต็มทั้งหมู่บ้าน ได้แก่
(1.) หมู่ที่ 2 บ้านนอก
(2.) หมู่ที่ 3 บ้านเหนือ
(3.) หมู่ที่ 4 บ้านค่าย
(4.) หมู่ที่ 5 บ้านท้องนายปาน
(5.) หมู่ที่ 6 บ้านหาดริ้น
การเลือกตั้ง
(1.) กรณีจัดตั้งสภาตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใต้
โดยที่มาตรา 40 และมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ บัญญัติให้จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงให้สภาตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใต้ ตามประกาศกรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 61 เล่ม 112 ตอนพิเศษ 6 ง ลงวันที่ 3 มีนาคม 2538 (ลำดับที่ 600 สภาตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใต้)
(2.) กรณีจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเทศบาลตำบลบ้านใต้
โดยที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพเหมาะสม สมควรให้จัดตั้งเป็นเทศบาลตำบล
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเทศบาลตำบลบ้านใต้
องค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเทศบาลตำบลบ้านใต้ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ มีแนวเขตตามคำบรรยายแนวเขตและแผนที่ท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย และพ้นสภาพแห่งการเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ได้มีประกาศนี้จัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาลตำบลเป็นต้นไป บรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ พนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลโอนไปเป็นของเทศบาลตำบลที่จัดตั้งขึ้น และบรรดาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้ใช้บังคับในเรื่องใดอยู่ก่อนแล้ว คงใช้บังคับได้ต่อไปเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการตราเทศบัญญัติในเรื่องนั้นขึ้นใหม่ ตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และข้อ 7 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการประชุมครั้งที่ 18/2555 เมื่อวันที่ 4 เดือนเมษายน พ.ศ. 2555 จึงประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านใต้และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านใต้ ในวันที่ 12 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555
ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านใต้ มีจำนวน 1 เขตเลือกตั้ง คือ เขตเทศบาลตำบลบ้านใต้
และการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านใต้ มีจำนวน 2 เขตเลือกตั้ง ดังนี้
(1) เขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านใต้ ที่จะมีการเลือกตั้ง 6 คน พื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง ได้แก่ หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 5 ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
(2) เขตเลือกตั้งที่ 2 จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านใต้ ที่จะมีการเลือกตั้ง 6 คน พื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง ได้แก่ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัด สุราษฎร์ธานี
(3.) การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว
ด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการแก้ไขปัญหาของประเทศ สถานการณ์จึงได้คลี่คลาย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิรูป การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติให้มากยิ่งขึ้น จึงสมควรให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เดิมมีส่วนรับผิดชอบในฐานะตัวแทนของประชาชนในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นอันจะเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในสถานการณ์ที่ยังไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งได้ ทั้งยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมอันจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๒ กรณีสมาชิกสภาท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่จะพ้นจากตำแหน่ง ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยให้มีจำนวนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นมีจำนวนไม่ครบตามวรรคหนึ่งหรือพ้นจากตำแหน่งในภายหลัง เพราะเหตุอื่นนอกจากครบวาระ ให้สภาท้องถิ่นประกอบด้วยสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้นๆ เท่าที่มีอยู่ โดยไม่ต้องดำเนินการคัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนตำแหน่งที่ว่าง เว้นแต่ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือมีการยุบสภาท้องถิ่น ให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ ฯ
ข้อ ๕ กรณีผู้บริหารท้องถิ่นที่จะพ้นจากตำแหน่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้มีประกาศให้มีการเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากครบวาระให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นโดยให้ดำเนินการตามข้อ ๑๑ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ ฯ
ข้อ ๘ วาระของสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นตามข้อ ๒ และข้อ ๓ และผู้บริหารท้องถิ่นตามข้อ ๕ และข้อ ๖ ดำรงตำแหน่งจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังอยู่ในตำแหน่งการประกาศให้มีการเลือกตั้งให้กระทำได้โดยความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะกรรมการการเลือกตั้ง